วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

วันครูแห่งชาติ

วันครูแห่งชาติ
วันครูปีนี้ตรกับวันพุธ ที่ 16 มกราคม พุทธศักราช 2556
วันครู

วันครู 16 มกราคมของทุกปี

ประวัติความเป็นมาของวันครู

มีขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความ เห็นเรื่องนโยบายการศึกษา และวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษา ควบคุมจรรยาและวินัยของครู รักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัวได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู
ด้วยเหตุนี้ในทุก ๆ ปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และซักถามปัญหาข้อข้องใจต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบ ข้อสงสัยสถานที่ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคยาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า
ครูคือผู้ให้แสงสว่าง
“ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือ ว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณเป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมีสักวันหนึ่งสำหรับให้บันดาลูกศิษย์ทั้งหลาย ได้แสดงความเคารพสักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับคนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง”
จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความคิดเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่น ๆ ที่ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึกถึงความสำคัญของครู ในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดีเพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมาก ในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติ เห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอคณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างครู กับประชาชน
ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันครู” โดยเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2488 เป็นวันครูและให้กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้
บทสวดเคารพครู

(สวดนำ) ปาเจราจริยาโหนฺติ (รับพร้อมกัน) คุณุตฺตรานุสาสกา

ปญฺญาวุฑฺฒิกเร เต เต ทินฺโนวาเท นมามิหํ

สวดทำนองสรภัญญะ

(สวดนำ) อนึ่งข้าคำนับน้อม (รับพร้อมกัน) ต่อพระครูผู้การุณย์
โอบเอื้อและเจือจุน อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์
ยัง บ ทราบก็ได้ทราบ ทั้งบุญบาปทุกสิ่งอัน
ชี้แจงและแบ่งปัน ขยายอรรถให้ชัดเจน
จิตมากด้วยเมตตา และกรุณา บ เอียงเอน
เหมือนท่านมาแกล้งเกณฑ์ ให้ฉลาดและแหลมคม
ขจัดเขลาบรรเทาโม หะจิตมืดที่งุนงม
กังขา ณ อารมณ์ ก็สว่างกระจ่างใจ
คุณส่วนนี้ควรนับ ถือว่าเลิศ ณ แดนไตร
ควรนึกและตรึกใน จิตน้อมนิยมชม
(กราบ)

การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันครู


เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในบทบาท และหน้าที่ของครู ตลอดจนจรรยามารยาทและวินัยตามระเบียบประเพณีครู และบทบาทหน้าที่ของศิษย์ที่พึงปฏิบัติต่อครู คลอดจนการจัดกิจรรมได้เหมาะสม และมีประสิทธภาพ

กิจกรรมในวันครู

การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลาในปัจจุบันได้จัดรูปแบบการจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
1. กิจกรรมทางศาสนา
2. พิธีรำลึกพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตนการกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
3. กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬา หรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

ปัจจุบันการจัดงานวันครู ได้มีการกำหนดให้จัดพร้อมกันทั่วประเทศ สำหรับส่วนกลางจัดที่หอประชุมคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการจัดงานวันครู ซึ่งมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน ประกอบด้วย บุคคลหลายอาชีพร่วมกันเป็นผู้จัด สำหรับส่วนภูมิภาคมอบให้จังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ โดยตั้งคณะกรรมการจัดงานวันครูขึ้นเช่นเดียวกับ ส่วนกลางจะจัดรวมกันที่จังหวัดหรือแต่ละอำเภอ

การระลึกนึกถึงพระคุณของคุณครู ในสมัยโบราณมีลักษณะอย่างไร

สาระหลักของการไหว้ครูคือการแสดงความเคารพระลึกถึงพระคุณของท่าน มอบกายถวายตัวให้กับท่าน ให้ท่านอบรมสั่งสอนมันเป็นอย่างนั้น แต่การแสดงออกก็จะมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมประเพณีของแต่ละที่กันไป อย่างเช่นในบางที่ก็ใช้วิธีการประกาศปฏิญาณตน บางที่ก็ใช้วิธีการว่าเอาข้าวตอกดอกมะเขือแล้วก็หญ้าแพรกต่างๆไปไหว้ครู เป็นต้น บ้างก็ใช้วิธีการแสดงออกโดยการประทักษิณ อย่างในพระพุทธศาสนาเรา การจะแสดงความเคารพ เราจะใช้การประทักษิณ เราคงได้ยินคำนี้ ประทักษิณอย่างเช่นว่าจะแสดงความเคารพพระพุทธรูป พระประธานในโบสถ์ ก็ประทักษิณรอบโบสถ์ เวียนเทียนนั่นเอง ก็คือเดินแล้วก็ด้วยอาการสำรวมเช่นพนมมือหรือสวดมนต์ไปเป็นต้น แล้วให้ขวามือของเรา อยู่ใกล้กับสิ่งที่เราแสดงความเคารพ เช่นจะเดินผ่านโบสถ์ก็ให้ขวามือเราเองอยู่ใกล้โบสถ์ แล้วก็เดินวนรอบ เรียกว่าเวียนประทักษิณ เจริญพร จะเป็นสถูปเจดีย์ต่างๆประทักษิณคือ เอาขวามือเราอยู่ใกล้สิ่งนั้นแล้วก็เดินรอบ 3 รอบโดยทั่วไป ก็เป็นการแสดงออกซึ่งความเคารพได้เหมือนกัน สำคัญที่ใจ แต่การแสดงออกทางกาย วาจา ก็มีผลเพราะว่า มันจะสื่อเนื่องไปถึงใจด้วย
การความเคารพ ควรแสดงออกแบบใดดีที่สุด

สิ่งที่แสดงออกสูงที่สุดคือปฏิบัติบูชา การแสดงความเคารพบูชาครูบาอาจารย์ ดีที่สุดคือปฏิบัติบูชา คือทำตามคำสอนของท่าน หน้าที่ของครูมี 2 อย่าง คือแนะให้รู้กับทำให้ดู แนะนำนั่นเองแหละ แนะคือสอนให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร นำก็คือทำให้ดูเป็นตัวอย่าง การประพฤติปฏิบัติของครูทำให้ดูเป็นตัวอย่าง 2 อย่างประกอบคือหน้าที่หลักของครู หน้าที่ของศิษย์เองก็จะต้องตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามเรียกว่าปฏิบัติบูชา ครูบาอาจารย์สอนอะไรไม่ใช่เข้าหูซ้ายออกหูขวา แต่ใส่ใจรับฟังศึกษาให้เข้าใจแล้วก็นำมาปฏิบัติเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นตัวเป็นตนของเราเอง จนซึมเข้าไปในใจของเราเป็นวิถีชีวิตของเราเอง อันนี้คือการปฏิบัติบูชาที่ดีที่สุด ถือเป็นการบูชาอันสูงสุด
ในทางพระพุทธศาสนาของเรานี่ ครูผู้ยิ่งใหญ่ของเราคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระบรมครูนั่นเอง เรารู้จักพระพุทธเจ้าในฐานะ ผู้เป็นพระบรมครู ศาสดาเอกของโลก เราจึงควรศึกษาของดีๆ ที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่สังคมอย่างกว้างขวาง
 
ขอขอบคุณ แหล่งที่มา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น